เมื่อวันก่อนได้ฉุกคิดเรื่องนึงขึ้นมา เหตุจากว่านำทางพูดถึงว่าเค้ารู้สึกเหมือนเป็นลูกไดโนเสาร์ตัวหนึ่งที่มีน้องไดโนเสาร์หลงฝูงอีกตัวมาอยู่ด้วย (หลายคนคงรู้จักนะคะ จากหนังสือชุดไดโนเสาร์สุดฮิตของไทย) และ sister bear (ซึ่งเป็นลูกคนที่สองของบ้าน) จากตอนที่มีน้องคนที่สาม (จากหนังสือชุดครอบครัวหมี The Berenstain Bears สุดฮิตของอเมริกาเช่นกัน) คือมีความรู้สึกอิจฉาน้องที่มีคนทำนั่นนี่ให้ ไม่โดนบังคับโดนสั่งเหมือนตัวเอง แบบไม่ต้องถูกให้ทำอะไรเลย มีคนดูแล อุ้ม โอ๋ ฯลฯ อันที่จริงอาจดูไม่แปลกอะไรสำหรับเด็กที่เป็นพี่ แต่พอเค้าเอาตัวเองไปเปรียบกับในหนังสือแบบนั้น ทั้งๆ ที่เรื่องมันก็คลี่คลายให้แล้วว่า แม่และคนอื่นๆ ก็รักลูกเหมือนกัน และปฏิบัติต่อน้องเหมือนที่เคยปฏิบัติต่อพี่มาก่อนเช่นกัน แต่ตอนนี้พี่โตแล้วจึงดูแลต่างกันไปตามวัย แต่มันทำให้รู้สึกไม่ค่อยโอเคกับการที่ลูกบอกว่าตัวเอง "เป็น" แบบตัวละครในหนังสือนั้น
อันที่จริงเคยคิดมาก่อนแล้วครั้งนึง แต่ลูกมาย้ำให้นึกถึงอีกที ตอนแรกที่คิดนั้นคือเรื่องหนังสือชุดไดโนเสาร์นี่แหละ ฮิตกันมากมายแต่แม่บ้านนี้ยังไม่เคยคิดซื้อเลย จนกระทั่งมีคนมาลืมไว้ที่บ้านเล่มนึง แล้วพอลูกไปเจออีกก็อยากได้เล่มอื่นอีกถึงได้ซื้อต่อๆ มา
ที่ไม่คิดซื้อหนังสือชุดที่พูดถึงนี้เพราะว่า ... เริ่มตั้งแต่ชื่อเรื่องเลย ขี้โมโห, ขี้อิจฉา, ขี้แย ฯลฯ ... เนื้อหาก็บอกถึงลักษณะนิสัยที่ไม่ดีบางอย่างในตัวลูกไดโนเสาร์แต่ละตัวที่มีข้อต้องแก้ไขต่างกันไป และแน่นอนว่าเนื้อเรื่องก็จบลงที่ว่าเด็กรู้ว่าควรปรับปรุงอย่างไร เพราะอะไร แล้วก็ปรับปรุงตัวได้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมหนังสือจึงไม่เป็นการบอกเล่าด้านดีๆ บทสรุปที่น่าสนใจของการแสดงพฤติกรรมดีๆ มุมดีๆ ของลูกไดโนเสาร์แทน? ทำไมจึงแปะป้ายคำเหล่านี้ให้กับเหล่าลูกไดโนเสาร์และนำเสนอต่อเด็ก? หากเด็กที่มีพฤติกรรมคล้ายกับในเรื่อง ก็แน่นอนว่าตัวเขาก็จะโดนแปะป้ายไปด้วยทันทีที่ได้ฟัง/ได้อ่าน และรับรู้ว่าตนเองเป็น ขี้...เหล่านั้น
นำทางก็เหมือนกัน พอได้หนังสือชุดนี้มา นำทางบอกว่า ตัวนี้เหมือนนำทางเลย นำทางขี้แย ... อืมมม แม้จะจริงหรือไม่ แต่คนเราปกติก็ไม่ได้ขี้แย ขี้โมโห หรือขี้อะไรต่างๆ นั้นตลอดเวลาอยู่แล้ว มันเกิดขึ้นตามอารมณ์ สภาพแวดล้อม สิ่งที่มากระทบต่างๆ กันไป จึงไม่น่าต้องบอกว่า "เป็น" แบบนี้ ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นลักษณะถาวรแทนที่มันจะเป็นแค่พฤติกรรมชั่วคราว ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ไม่ค่อยชอบนักในหนังสือที่บอกว่าเป็นชุดพัฒนา EQ
ต่อมาที่ The Berenstain Bears อันที่จริงเป็นอะไรที่ชอบมาก แม่ก็ชอบ ลูกก็ชอบ มีชุดนี้กันหลายเล่มและอ่านบ่อยมาก เรื่องนี้ไม่ได้แปะป้ายขนาดชุดที่เอ่ยถึงด้านบน เนื้อเรื่องก็จะเป็นปัญหานั่นนี่ที่เด็กๆ ประสบหรือพฤติกรรมบางอย่างที่ควรแก้ไขหรือหาทางออกที่ดีกว่า โดยในเรื่องจะมี mama bear คุณแม่หมีผู้เป็นตัวหลักในการปรับพฤติกรรมของคนในบ้านด้วยทางออกที่ค่อนข้างเฉียบและเนียน แต่มันก็สะกิดสิ่งที่มีอยู่ในตัวเด็กเล็กๆ หากมีพฤติกรรมคล้ายตัวละคร อย่างที่นำทางรู้สึกว่าตัวเองเหมือน sister bear ตอนที่มีน้องนี่แหละ ... อืมมม แต่รวมๆ ก็ยังถือว่าโอเคมาก เพราะไม่ได้บอกตรงๆ หรอกว่าที่ sister bear เป็นแบบนี้หนะมันไม่ดีหรือไม่ถูกยังไง แต่เนื้อเรื่องแค่ทำให้เห็นว่า หนูก็เคยเป็นเด็กเล็กๆ ที่คนอื่นทำให้แบบนี้เหมือนกันนะ แล้ว sister bear ก็เลยเข้าใจสถานะของน้องและตัวเอง แต่ก็รู้สึกเองว่า เหมือนหนังสือชุดนี้จะเหมาะกับพ่อแม่อ่านเพื่อเก็บทริกต่างๆ ของ mama bear ไว้ใช้กับลูกเองมากกว่าที่จะให้เด็กหยิบไปใช้เอง
ทีนี้จะขอแนะนำตัวอย่างหนังสือที่ถูกใจและรู้สึกว่าเป็นการพัฒนา EQ หรือส่งเสริมพฤติกรรมด้านบวกที่ดีกว่าการชี้ช่องด้านลบ
ค่อยๆ (สำนักพิมพ์ คิดไรเดอร์) เรื่อง: นำบุญ นามเป็นบุญ ภาพ: พันธุ์แก้ว คูห์รัตนพิศาล
ตัวอย่างจากส่วนหนึ่งของหนังสือ "ค่อยๆ " เป็นหนังสือที่ภาพอ่อนโยน ใช้คำสั้นๆ ง่ายๆ ซ้ำๆ (สำหรับเด็กเล็ก) เนื้อเรื่องที่ต่อเนื่องจากกิจวัตรประจำวันของเด็กๆ (ในเรื่องจะแสดงตั้งแต่ตื่น แปรงฟัน ทานอาหาร อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ ฯลฯ) พร้อมไปกับย้ำคำว่า "ค่อยๆ" ให้ประพฤติอย่างนุ่มนวล รวมถึงภาพตอนท้ายที่แสดงความรู้สึกรักและอบอุ่นของทุกคน โดยที่ไม่ต้องมีการเล่าด้านไม่ดีใดๆ ไม่ต้องมีการแก้ไขพฤติกรรม เพียงแต่แสดงพฤติกรรมที่เหมาะที่ควรให้เด็กซึมซับ แบบนี้ที่รู้สึกปลื้มมากกว่า
ของเด็กโตก็มีเยอะแต่นึกตอนนี้ไม่ค่อยออก นึกได้นิดหน่อย เช่น หนูนิ่มผู้มีหัวใจเอื้อเฟื้อ (นิทานสีขาว ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา), ส่วนภาษาอังกฤษที่เห็นจากลูกบ่อยคือหนังสือชุดเจ้าหญิงของลูก (เจ้าหญิงดิสนีย์แต่เป็นตอนอื่นๆ ที่แต่งเพิ่ม แต่ละเล่มก็เป็นตอนหนึ่ง) ซึ่งบอกลักษณะนิสัยที่น่ารักของเจ้าหญิง เช่น เป็นคนซื่อสัตย์, สุภาพ, นอบน้อม, มีน้ำใจ เป็นต้น
ตอนนี้อยากจะค่อยๆ แอบพาหนังสือที่ไม่ต้องใจ(แม่)ให้หายวับไป (โดยเฉพาะชุดแรกที่เอ่ยถึงนั้น และแน่นอนว่ายังมีอีกที่เป็นนิทานไทยที่พยายามจะพัฒนา EQ ด้วยวิธีทำนองนี้ แต่ถ้าไม่บอกชื่อตรงๆ อาจนึกไม่ออกกัน เลยไม่ได้เอ่ยถึง) จะไม่เก็บไว้อ่านให้น้องฟัง และพี่ก็จะได้ลืมๆ ไม่หยิบมาอ่านอีก แต่ถ้าวันไหนถามถึงจะทำไงดีล่ะ - -?
ลิงค์ถาวร